• 21 กุมภาพันธ์ 2017 at 11:00
  • 1285
  • 0

กทม.แก้จราจรกรุงเทพฯ ขยาย BTS เชื่อม “บางหว้า-ศาลาธรรมสพน์”

BTS at Nana

กทม.ทุ่ม 4 หมื่นล้านแก้จราจรกรุงเทพฯโซนเหนือ-ใต้ เดินหน้าออกพันธบัตรกว่า 2 หมื่นล้านสร้างโมโนเรลสายสีเทา “วัชรพล-พระราม 4″ 20 กม. บรรเทาจราจรถนนเกษตร-นวมินทร์กับเลียบด่วนเอกมัยฯ เล็งลงทุนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส “บางหว้า” ไปบรรจบรถไฟสายสีแดงที่สถานีศาลาธรรมสพน์อีก 2 หมื่นล้าน 7 กม. เสริมโครงข่ายจราจรฝั่งธนบุรี

นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.กำลังจะศึกษาความเป็นไปได้ก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีบางหว้าถึงบริเวณศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา เพื่อเชื่อมกับรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายา)ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ฝั่งธนบุรี

“คาดว่าใช้เวลา 1 ปี โดยได้หารือเบื้องต้นกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เพราะเป็นเส้นทางใหม่และแนวเส้นทางอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ กทม. ก็มีสิทธิเสนอโครงการได้”

นายอมรกล่าวว่า แนวเส้นทางเป็นการก่อสร้างบนพื้นที่เปิดใหม่ ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนและสร้างบนแนวถนนเดิม จุดเริ่มต้นจะต่อเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีบางหว้า เงินลงทุนเฉลี่ย กม.ละ 1,500 ล้านบาท ระยะทาง 7 กม. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท แนวเส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่เปิดใหม่แล้วมุ่งหน้าตรงไป ผ่าน ถ.บรมราชชนนี ซึ่งบริเวณนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะลากแนวเส้นทางไปยัง ถ.พุทธมณฑลสาย 1 หรือสาย 2 จากนั้นแนวเส้นทางจะไปเชื่อมกับรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายจากช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา ที่สถานีศาลาธรรมสพน์ประมาณ 7 กม.

นายอมรกล่าวอีก ว่า ขณะเดียวกัน กทม.อยู่ระหว่างขออนุมัติสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเทา (วัชรพล-ลาดพร้าว-พระราม 4-สะพานพระราม 9) 26 กม. เงินลงทุนกว่า 34,000 ล้านบาท แต่จะนำร่องก่อสร้างจากวัชรพล-ถ.พระราม 4 ระยะทาง 20 กิโลเมตร เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท แยกเป็น 2 ช่วงคือ 1.วัชรพล-ลาดพร้าว 8 กม. มี 5 สถานี 2.จากลาดพร้าว-ถ.พระราม 4 ระยะทาง 12 กม. มี 10 สถานี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปี 2557

ทั้งนี้ เงินลงทุนจะใช้วิธีการออกพันธบัตรกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เพื่อแก้ปัญหาจราจรพื้นที่กรุงเทพฯโซนเหนือและด้านใต้ สามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองย่านทองหล่อ ถ.สุขุมวิทได้ง่ายขึ้น

“กทม.อยู่ ระหว่างเจรจากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอใช้พื้นที่บริเวณศูนย์วัฒนธรรมเป็นเดโป้ หรือศูนย์ซ่อมบำรุง” นายอมรกล่าว
ทั้งนี้ แนวเส้นทางตามแผนแม่บทที่สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดไว้นั้น ในช่วง “วัชรพล-ลาดพร้าว” เริ่มจากจุดตัดรามอินทรา-วัชรพล มุ่งหน้าถนนเลียบทางด่วน ผ่าน ถ.นวลจันทร์ ถ.สุคนธสวัสดิ์ ยกข้ามแยก ถ.เกษตร-นวมินทร์ ผ่านลาดพร้าว 87 ไปสิ้นสุดที่ ถ.ลาดพร้าว 8 กม. มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีวัชรพล นวลจันทร์ เกษตร-นวมินทร์ โยธินพัฒนา ลาดพร้าว 87 คาดว่ามีผู้โดยสาร 84,000 เที่ยวคน/วัน

ส่วนช่วง “ลาดพร้าว-พระราม 4″ เริ่มจากจุดตัด ถ.ลาดพร้าว ผ่านแยกประชาธรรม ตรงไปลอดใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี ที่แยกพระราม 9-ถ.ประดิษฐ์มนูธรรมจากนั้นเลี้ยวตรงแยกเอกมัย มาเข้า ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แล้วตัดไปทาง ถ.ทองหล่อ จนถึงจุดตัด ถ.สุขุมวิท ยกข้ามรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีทองหล่อ เข้าซอยสุขุมวิท 38 จากนั้น เบี่ยงเข้าซอยสุขุมวิท 40 จนมาถึง ม.กรุงเทพ ที่กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 มุ่งหน้าไปจนสิ้นสุดที่ตลาดคลองเตย บริเวณแยก ถ.พระรามที่ 4 กับ ถ.รัชดาภิเษก 12 กิโลเมตร มี 10 สถานี ได้แก่ สถานีฉลองรัชนวศรี พระราม 9 ศูนย์วิจัย ทองหล่อ 25 ทองหล่อ 10 ทองหล่อ สุขุมวิท 38 พระราม 4 และคลองตัน คาดว่ามีผู้โดยสาร 136,000 เที่ยวคน/วัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ