• 21 กุมภาพันธ์ 2017 at 11:00
  • 1023
  • 0

คมนาคมสั่งพร้อมลุยลงทุน2ล้านล้าน

วุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลมั่นใจว่าไม่มีปัญหา และคาดว่าจะประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปีนี้

ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา จะทำให้ไม่สามารถทูลเกล้าฯได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ถือเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ได้เตรียมดำเนินการทันทีหลังกฎหมายบังคับใช้ โดยจะผลักดันโครงการที่สามารถทำได้ก่อน ในขณะที่ราคาที่ดินในจังหวัดที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ราคาที่ดินบางพื้นที่ปรับสูงขึ้นถึง 100%

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หากพ.ร.บ.ได้รับความเห็นชอบสามารถดำเนินการได้ทันที

"โครงการที่จะดำเนินการได้ก่อน เช่น งานก่อสร้างทางถนน งานก่อสร้างด่านศุลกากร งานปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ"

นายจุฬากล่าวว่าตามกฎหมายฉบับนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องดำเนินการให้งานแล้วเสร็จภายในกำหนด หากการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน จะส่งผลกระทบกับโครงการของหน่วยอื่นด้วย เช่น งานก่อสร้างถนนไปยังท่าเรือ เมื่องานก่อสร้างท่าเรือเสร็จสมบูรณ์ งานก่อสร้างถนนเชื่อมท่าเรือต้องแล้วเสร็จด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าออกท่าเรือได้ หรือหากเป็นกรณีการปรับปรุงรถไฟทางคู่ การก่อสร้างจุดตัดถนนกับรถไฟต้องแล้วเสร็จด้วยเช่นกัน เพื่อให้รถไฟสามารถใช้ความเร็วได้ ทุกหน่วยงานจึงต้องรับผิดชอบงานที่อยู่ในความดูแลให้ดี จะอ้างว่างานไม่เสร็จหรือล่าช้า เพราะงบประมาณเหมือนในอดีตไม่ได้

"การดำเนินโครงการตามพ.ร.บ.เงินกู้จะเป็นชุดโครงการ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ จะมีตัวชี้วัดว่างานต้องเสร็จตามกำหนด เพราะในภาพรวมตัวชี้วัด จะมากกว่าที่ตัวเองต้องทำงานในส่วนที่รับผิดชอบ โดยเป้าหมายการดำเนินโครงการภายใต้แผนกู้เงินต้องเริ่มและแล้วเสร็จภายใน 7 ปี การประสานงานและการวางแผนการดำเนินโครงการร่วมกัน จึงจำเป็นและสำคัญมาก สนข.จะร่วมประสานทำความเข้าใจในการทำงานระหว่างหน่วยงาน"

ตั้งเป้ากลางปี2557ประมูลไฮสปีดเทรน

นายจุฬากล่าวว่าโครงการที่ สนข.ต้องเข้าไปช่วยในการทำความเข้าใจค่อนข้างมาก คือ การพัฒนาเมืองตามสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะมีหลายหน่วยงานดูแล ไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจะทำหน้าที่จัดรูปที่ดินใหม่ เนื่องจากในบางพื้นที่ต้องย้ายสถานีขนส่งให้มาอยู่ใกล้สถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง แม้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่จะไม่มีผลให้งานก่อสร้างอื่นๆ ล่าช้า เพราะเป็นโครงการใหม่ จะเกี่ยวข้องเฉพาะกับโครงการรถไฟ ซึ่งพื้นที่ใดที่ต้องใช้ร่วมกันต้องออกแบบไว้รองรับ โดยการออกแบบจะให้โครงสร้างของรถไฟความเร็วสูงอยู่ด้านบน และรถไฟธรรมดาอยู่ข้างล่าง เมื่อแผนการดำเนินโครงการชัดเจนว่าจะมีรถไฟความเร็วสูงแน่นอน จะออกแบบโครงสร้างเผื่อไว้ได้ ต่างจากการดำเนินงานก่อสร้างสถานีบางซื่อ ซึ่งไม่ได้ออกแบบรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้ตั้งแต่แรก จึงต้องปรับแบบก่อสร้างใหม่

สนข.รับผิดชอบศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง โดยล่าสุดเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเสนอได้ประมาณเดือนต.ค.นี้ และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน จะช้ากว่าเล็กน้อย คาดว่าภายในปีนี้จะเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้

"โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นงานก่อสร้างตามเขตทางรถไฟเดิม เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก หากจะมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นบริเวณสถานีรถไฟ ตามแผนคาดว่าภายในกลางปี 2557 จะเปิดประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมา และมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2562"

หวั่นท่าเรือปากบาราเจอแรงต้าน

นายจุฬามั่นใจว่าทุกโครงการตามแผนเงินกู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้แน่นอน เพราะทุกโครงการมีประโยชน์สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ ส่วนโครงการที่จะไม่ได้ก่อสร้างคงเป็นเรื่องการคัดค้านของประชาชน โดยโครงการที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่อาจไม่ได้ก่อสร้างคือโครงการท่าเรือปากบารา

"ประชาชนไม่ได้คัดค้านท่าเรือโดยตรง แต่คัดค้านอุตสาหกรรมที่จะมากับท่าเรือ เพราะกังวลว่าจะมีการย้ายนิคมอุตสาหกรรมจากมาบตาพุดมายังท่าเรือปากบารา ซึ่งรัฐบาลต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะตามแผนท่าเรือปากบาราจะเหมือนท่าเรือแหลมฉบังที่รับเรือสินค้าเข้าออกเท่านั้น แต่ไม่มีอุตสาหกรรมอื่น"

ขณะเดียวกันมั่นใจว่าเมื่อทุกโครงการเปิดให้บริการต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศจะลดลง 2% ตามเป้าหมาย และประชาชนจะหันมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้น อีกทั้งการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แน่นอน จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนได้ว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางรถไฟเมื่อใด รวมทั้งวางแผนว่าจะไม่ทำสัญญาจ้างรถบรรทุกหรือไม่ลงทุนซื้อรถบรรทุกใหม่ให้สอดคล้องกับระยะเวลาดังกล่าว

"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ แต่จากการที่โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถรองรับความต้องการดังกล่าวได้ เพราะมีปัญหาหลายอย่าง เช่น หัวรถจักรและแคร่ไม่เพียงพอ การมีรางเดียวทำให้ต้องเสียเวลารอหลีก แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมจะทำให้การบริการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าทันที"

ทั้งนี้ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทางรางมีความพร้อม ภาครัฐต้องพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์จากรางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นภาค 2 ต่อจากแผนลงทุน โดยเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งอาจต้องแก้ไขกฎหมายให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเป็นผู้ให้บริการรถไฟ เพื่อใช้ประโยชน์จากรางที่มีอยู่ได้เต็มประสิทธิภาพ ลักษณะเดียวกับการใช้ถนน ซึ่งภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างถนนและเปิดให้ผู้ขนส่งมาใช้ถนน

ชี้ปัจจัยเสี่ยง'แรงงาน-วัสดุก่อสร้าง'

นายจุฬากล่าวว่าอุปสรรคของโครงการจะเป็นปัจจัยด้านแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นหินและทราย ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากการศึกษาพบว่าช่วงเวลา 7 ปี จะมีตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้างเพิ่มอีก 280,000 ตำแหน่ง ขณะที่วัสดุก่อสร้างไม่เคยต้องจัดเตรียมรองรับงานก่อสร้างที่เริ่มพร้อมกันมากเท่านี้มาก่อน อาจต้องวางแผนให้สัมปทานระเบิดหินหรือขุดทรายเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินโครงการเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการตามพ.ร.บ.เงินกู้หรืองบประมาณปกติ จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรค แต่เรื่องของแรงงานและวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า เพราะหากเกิดปัญหาขาดแคลนอาจส่งผลให้โครงการล่าช้าได้ แต่จะไม่ทำให้ต้นทุนการดำเนินโครงการเพิ่มขึ้น เพราะมีการแข่งขัน

นายจุฬามั่นใจว่าในอนาคต หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลเชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้โครงการตามแผนกู้เงินต้องชะลอหรือยกเลิก เพราะเมื่อโครงการเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของประชาชน ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนโครงการ

"หากรัฐบาลใหม่ไม่ดำเนินการต่อไปหรือคิดโครงการใหม่ น่าจะได้รับการคัดค้านมากกว่าการสนับสนุน การผลักดันให้โครงการแล้วเสร็จย่อมได้รับคะแนนเสียงที่ดี"